Experiences สิงหาคม 22, 2020
บุรีรัมย์ เป็นแหล่งอารยธรรมของเขมรโบราณในภาคอีสาน ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการทอผ้าไหมมาเป็นเวลานาน เรียกได้ว่ามีการทอผ้าไหมแทบจะทั่วทุกอำเภอ ชาวบ้านหลายๆ คนก็ทอผ้าไหมเป็นอาชีพเสริม ซึ่งก็ได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญามาจากบรรพบุรุษ
โดยเฉพาะแหล่งทอผ้าไหมที่ใหญ่ และ สวยที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์ นั่นคือที่อำเภอพุทไธสง และ อำเภอนาโพธิ์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการศิลปาชีพพิเศษ ในด้านการออกแบบลวดลาย และ การจัดจำหน่ายอีกด้วย!
ลวดลายการทอ
ผ้าไหมอย่างหนึ่งที่นับว่าเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นของชาวบุรีรัมย์นั่นคือ ผ้ามัดหมี่ตีนแดง หรือ ที่เรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า “ซิ่นหัวแดงตีนแดง ซิ่นตีนแดง หรือ ซิ่นหมี่รวด”
นับเป็นผ้าไหมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ มีการทอด้วยไหมทั้งผืน หัวซิ่น และ ตีนซิ่นจะเป็นสีแดง ซึ่งจะทอเป็นผืนเดียวกัน ตอนกลางของผ้าจะเป็นสีดำลายมัดหมี่ คือ ลายไม้แทงตาหนู (ไม้ขัดตาหนู) สีประกอบได้แก่ สีขาว เหลืองเขียว แดง และ มีลวดลายส่วนใหญ่เป็นลายดั้งเดิม คือ ลายนาค ลายแข่วเลื่อย (ลายฟันเลื่อย) ลายขอเครือ ลายขอวน ฯลฯ
แถมผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์ ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นผ้าวัฒนธรรมประจำจังหวัดบุรีรัมย์อีกด้วยนะ!
บ้านหัวสะพาน อำเภอพุทไธสง
แหล่งผลิตผ้าซิ่นตีนแดงที่สำคัญ นั่นคือ บ้านหัวสะพาน อำเภอพุทไธสง ซึ่งกลายมาเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และ ทอผ้าไหมมานาน สืบทอดต่อกันมาหลายรุ่น หลังฤดูเก็บเกี่ยวจะมีการทอผ้าไหมขาย เพื่อเป็นรายได้เสริม
หลังจากค่อยๆ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เริ่มผลิตเส้นไหมให้ได้ตามมาตรฐานจนกลายเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน เกิดเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายอย่างมีทั้ง เส้นไหม ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าซิ่นตีนแดง ผ้ามัดหมี่เชิงแดง ผ้าไหมพื้นเรียบ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ เป็นต้น
แล้วจึงค่อยๆ ต่อยอดแปรรูปผ้าไหมเป็นหมอนสมุนไพร หมอนสามเหลี่ยม หมอนทรงมะเฟือง
หมอนทรงกระดูก ไปจนถึงขั้นที่มีการจัดงานมหกรรมผ้าไหม ขึ้นทุกปีที่อำเภอพุทไธสง