Travels พฤษภาคม 11, 2020
“ในอนาคตการท่องเที่ยวที่ทิ้งร่องรอยคาร์บอนน้อยที่สุด จะเป็นสิ่งที่มนุษยชาติแสวงหามากที่สุด”
ในปัจจุบันจะมองไปทางไหนก็มีแต่กระแสรักษ์โลก มีการตื่นตัวทางด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องขยะ เรื่องพลาสติก รวมไปถึงสิ่งที่อยากชวนเพื่อนๆ มาพูดคุยกันวันนี้ นั่นคือแนวคิดเรื่อง “Low Carbon” ที่มาควบคู่กับคำว่า “ร่องรอยคาร์บอน” (Carbon Footprint)
” Carbon Footprint” คือ ความพยายามวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากชีวิตประจำวันของมนุษย์โดยมีหน่วยเป็นกิโลกรัม หรือ ตันคาร์บอน เพื่อแสดงให้เห็นว่า คน ชุมชน หรือประเทศ ได้ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณเท่าใดใน 1 ปี ซึ่งจะไปมีผลต่อเนื่องมากมาย เช่น เรื่องใช้พลังงานหมุนเวียน หรือ การวางมาตรการอื่นๆ ที่จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง
ทั้งหมดนี้อาจจะดูจริงจังไปบ้าง แต่ก็เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึง โดยเฉพาะพวกเราที่ชอบเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งมักจะสร้างร่องรอยคาร์บอนในปริมาณมากจากการเดินทาง, ชอปปิ้ง, อาหาร และ ที่พัก ในวันนี้จึงอยากลองมาชวนเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ลองมาเดินทางแบบ Low Carbon กันดูบ้าง ซึ่งไม่ใช่ว่าอยากให้เที่ยวแบบ Low Carbon จนต้องจำกัดตัวเอง แต่เพราะนอกจากจะได้ช่วยเรื่องโลกร้อนแล้ว ขอยืนยันว่า 2 เส้นทางเมืองรองที่กำลังจะแนะนำนี้ล้วนมีความน่าสนใจไม่แพ้สถานที่ท่องเที่ยวในกระแสหลักอย่างแน่นอน!
1. เส้นทางอุดรธานี-หนองคาย
เส้นทางสายอาหาร ที่ไม่ได้เน้นความหรูหรา แต่เน้นให้ได้ลิ้มลองรสชาติที่แท้จริงจากวัตถุดิบที่ใช้ในตำรับพื้นบ้าน เครื่องปรุง และ วัตถุดิบที่ไปเด็ดกันสดๆ จากริมรั้ว ปราศจากสารเคมี ประกอบเข้ากับบรรยากาศที่เรียบง่าย จริงใจ เพราะ อาหารนั้น แก่นแท้คือวิถีวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ
จากฝรั่งเศสสู่อุดรธานี
เริ่มต้นการเดินทางในตอนเช้าตรู่ที่ตัวเมืองอุดรธานี เราจึงไม่ควรพลาด “มื้อเช้า” ในแบบที่คนท้องถิ่น ซึ่งมีที่มาที่น่าสนใจ เป็นการเดินทางข้ามวัฒนธรรมจากตะวันตกสู่ตะวันออก ด้วยอิทธิพลของชาวฝรั่งเศสในอาณานิคมอันนัม และรูปแบบอาหารเช้าแบบคอนติเนนทัล กลายมาเป็นไข่กระทะ และ ข้าวจี่ ที่แปลงมาจากขนมปังบาแกตต์ ยัดไส้หมูยอ กุนเชียงในแบบฉบับชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
Zero Waste กลางป่า
มุ่งหน้าตามทางหลวง 2021 อีกสองชั่วโมงสู่อำเภอนายูง เพื่อไปผจญภัยกับรสชาติที่หมู่บ้านในวงล้อมของภูหินทรายที่บ้านคีรีวงกต ซึ่งเป็นชุมชนที่ถูกภูเขาล้อมไว้ มีทางเข้าออกเป็นถนนลำลองเพียงด้านเดียว แต่ก็คดเคี้ยวสลับซับซ้อนจนได้ชื่อว่าบ้านเขาวงกต
นํ้าตกห้วยช้างพลาย เป็นนํ้าตกขนาดเล็กที่เชิงเขาท้ายบ้าน ความเย็นฉํ่าของสายนํ้า รวมกับมื้อพิเศษที่ถูกจัดเตรียมไว้ กลิ่นหอมของปีกไก่หมักง่ายๆ ย่างด้วยถ่านไฟจนเหลืองกรอบ วางเรียงรายอยู่บนใบตอง แถมยังมีส้มตำรสแซ่บในจานไม้ไผ่, ปลานิลย่างเกลือที่บิออกมาได้เนื้อฟูขาว, แกงส้มรสจัดจ้านใส่หยวกกล้วย, เนื้อปลาที่ปรุงในกระบอกไม้ไผ่ และ ที่ขาดไม่ได้ แน่นอน ข้าวนึ่ง ข้าวหุงสวยในกระบอกไผ่เช่นกัน
การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติย่อยสลายได้ เช่น ไผ่ ใบไม้ จึงเป็นแนวทางที่ดี และ ได้ผล เพราะไม่ต้องใช้พลังงานในการกำจัด ไม่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม แต่แน่นอนว่าชาวบ้านก็ออกแบบวิธีการใช้ให้เหมาะสม ยังสามารถรับประทานอาหารได้อย่างสะดวกไม่ลำบากจนเกินไป
กาแฟนายูง และ วัดป่าภูก้อน
จากบ้านคีรีวงกต เรามุ่งหน้าสู่วัดป่าภูก้อน แต่เส้นทางนี้ผ่านแหล่งปลูกกาแฟนายูงที่ขึ้นชื่อ เป็นกาแฟอาราบิกาที่ปลูกแซมในสวนยางพาราสลับกับไม้ผลอื่นๆ ทั้งเงาะ ทุเรียน ลิ้นจี่ ลำไย โดยไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลง
“กาแฟนายูง” กลายมาเป็นกาแฟท้องถิ่นเป็นที่รู้จัก ใช้กรรมวิธีแบบวอชโปรเสส คั่วหอมระดับกลาง ได้เม็ดสวย รสชาติดี หอมกลมกล่อม ชงได้ทั้งแบบดริป และ เอสเปรสโซ นอกจากนี้ยังแตกไลน์มาเป็นสบู่กากกาแฟ ส่วนเปลือกเชอร์รี่กาแฟ ก็นำมาหมักเป็นปุ๋ยกลับคืนไปยังไร่กาแฟ
ห่างไปเพียงไม่เกิน 30 นาที ก็จะเจอกับ “วัดป่าภูก้อน” วัดป่าที่เงียบสงบมีพระวิหารใหญ่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ประยุกต์ ประดับลวดลายปูนปั้น และ จิตรกรรมเรื่องทศชาติ ประดิษฐานพระนอนหินอ่อนสีขาว คือ พระพุทธไสยาสน์โลกนาถศาสดามหามุนี
รสของใจที่วังน้ำมอก
กินข้าวเซาเฮือน คือ ธีมหลักของการท่องเที่ยวชุมชนบ้านวังนํ้ามอก ที่บอกถึงวิถีวัฒนธรรมของชุมชนบนขอบที่ราบสูงแห่งนี้ ไม่เพียงต้อนรับเลี้ยงอาหารให้อิ่มหนำ ล้อมวงนั่งกินกับพื้น และ พูดคุยกันไป แล้วยังต้องชวนให้ค้างสักคืน
กลางลมหนาว เราตื่นมาใส่บาตรแต่เช้าตรู่ แล้วล้อมวงจี่ข้าวปิ้งกล้วย พร้อมจิบกาแฟร้อนๆ ในบรรยากาศอันแสนสบาย หลังจากนั้นก็เริ่มการท่องเที่ยวชุมชน โดยร่วมทำกิจกรรมในชุมชน ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ชาวบ้านทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว เช่น การทำนาโยน การทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ เรียนรู้การปลูกผัก
2. เส้นทาง นครพนม-มุกดาหาร
เมืองรองสองเมืองที่ห่างกันเพียง 100 กิโลเมตร เลียบริมฝั่งโขง จากนครพนมสู่มุกดาหาร ระยะทางที่ปกติคงใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วโมงเศษแต่สำหรับที่นี่ อาจต้องนานถึง 3-4 วัน เป็นอย่างน้อย ทำให้เวลาดูแล้วเหมือนเดินช้าลงในทันใด!
นครพนมบ้านคนมีความสุข
100 กิโลเมตร เลียบลำนํ้าโขงจากนครพนมลงไปถึงมุกดาหาร เป็นเส้นทางเชื่อมสองเมืองรอง มีจุดท่องเที่ยวให้หยุดแวะมากมาย จึงอยากแนะนำเดินทางด้วยจักรยาน โดยเริ่มต้นแต่เช้าที่เชิงสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 ซึ่งนอกจากจะช่วยลดคาร์บอนลงได้แล้ว ยังจะได้ขี่จักรยานผ่านเส้นทางจักรยานที่สวยที่สุดเส้นหนึ่งของไทย ไม่เพียงเลียบริมโขงเห็นทิวทัศน์เขาหินปูนสลับซับซ้อนของฝั่งลาว แต่ตลอดเส้นทางยังบอกเล่าเรื่องราวของนครพนมจากอดีตถึงปัจจุบันได้อย่างน่าทึ่ง ผ่านชุมชนหนองแสงที่มีโบสถ์คาทอลิกของวัดนักบุญอันนาเป็นจุดเช็กอิน แถมยังจะได้เจอชาวนครพนมที่ก็พากันมาขี่จักรยาน วิ่งออกกำลังกาย ยิ้มแย้มทักทายกันอีกด้วย
พระธาตุพนม
เลือกพักอย่างอบอุ่นที่ชายโขงนครพนม เพราะหลงใหลในบรรยากาศยามพลบ แต่การตื่นแต่หัวรุ่งเพื่อถ่ายภาพองค์พระธาตุกับแสงเช้า อันเป็นช่วงเวลาดีที่สุดในการบันทึกภาพองค์พระธาตุพนม ก็เป็นทางเลือกที่ “ใช่” และ ในยามหัวคํ่าสุดสัปดาห์ก็มีตลาดถนนคนเดินเล็กๆ ในบรรยากาศน่ารัก และตลาดสองฝั่งโขงในเช้าวันจันทร์กับวันพฤหัสบดี ที่ชาวลาวจากปากเซ ท่าด่านเดินทางเข้ามาซื้อหาและค้าขาย จนมีเรือจอดยาวไปตลอดแนวชายฝั่ง
หนทางใกล้ แต่ไปช้า
จากอำเภอธาตุพนม เหลือระยะทางเพียงไม่ถึง 40 กิโลเมตร ก็จะถึงจังหวัดมุกดาหาร หนทางไม่ไกลเลย แต่เราคงไม่ถึงตอนเย็นยํ่า เพราะหนทางใกล้แต่ไปได้ช้าๆ จนมาถึงแก่งกระเบาเป็นแก่งใหญ่นํ้ากลางลำนํ้าโขงที่บ้านนาแก ตำบลหว้านใหญ่ อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหารทุกวันนี้ไม่เพียงแก่งสวย ยังเป็นจุดพักชมพญานาคใหญ่สีขาว ชื่อศรีภุชงค์มุกดานาคราช สูง 11 เมตร ยาวถึง 51 เมตร
จากแก่งกระเบาไม่นานก็ถึงโบสถ์คริสต์ใหญ่แห่งวัดสองคอน หยุดพักคลายเหนื่อยจากการเดินทางสักเล็กน้อย ณ สักการสถานพระมารดาแห่งมรณสักขี อันเป็นสถานที่รำลึกถึงคริสตชนทั้ง 7 ที่ยืนยันในพระเจ้าจนตัวตาย ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่สี่เหลี่ยมโล่ง ชั้นเดียว ติดลำนํ้าโขงมีแนวไม้ใหญ่ร่มรื่น
แก้วมุกดาแห่งลำน้ำโขง
เมื่อเราเริ่มมองเห็น พระพุทธรูปใหญ่สีขาวบนปลายภู เท่ากับว่าเราได้เริ่มเข้าสู่ตัวเมืองมุกดาหารแล้ว ที่นี่คือ
ภูมโนรมย์ หรือ วัดรอบพระพุทธบาทภูมโนรมย์ นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นพญานาค นาคยักษ์ สูง 20 เมตร ยาว
122 เมตร สีเหลือบฟ้าอมเขียว ที่จะแวะกราบไหว้ขอเรื่องโชคลาภกันดูก็ได้นะ
ปลาแม่น้ำโขง
จากนครพนมถึงมุกดาหาร หนึ่งในภูมิปัญญาที่ส่งต่อกันมานั่นคือ เรื่องอาหารการกินที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะปลาจากแม่นํ้าโขงที่ต้องลอง!! เพราะอาจกล่าวได้ว่าเป็นแหล่งปลานํ้าจืดคุณภาพดีที่สุดของเมืองไทยแน่นอนว่ากินปลานํ้าโขงก็โลว์คาร์บอน เพราะการหาปลาในแม่นํ้าโขง ชาวประมงพื้นบ้านใช้วิธีง่ายๆ ด้วย
การไหลมองหรือตก ใช้เรือเครื่องท้ายลำเล็กๆ หาปลาไม่ไกลบ้าน จากนั้นก็มาส่งแม่ค้าในตลาดท้องถิ่นหรือร้านอาหารริมนํ้า แทบไม่มีการขนส่งเป็นระยะทางไกลๆ
แหนมเนืองแบบดานัง ก็เป็นสิ่งที่น่าลิ้มลอง นอกจากตัวหมู พืชผักนานาแล้ว แป้งแบบบาง ที่ละลายได้ในปากโดยไม่ต้องแช่นํ้า ก็เป็นอีกความต่างที่รอให้ไปพิสูจน์!!