Destinations พฤษภาคม 30, 2020
ต้องยอมรับว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างทำให้เราหดหู่มาก ทั้งเรื่องข่าวสารต่างๆ การต้องกักตัวเองอยู่ในบ้านนานๆ ทำงานที่บ้านคนเดียวหลายสัปดาห์ ทั้งหมดทำให้เรารู้สึกว่าหลังจากไวรัสหมดไป เราอยากไปเที่ยวสักที่ที่มันปลอดโปร่ง ได้สูดกลิ่นไอของธรรมชาติให้เต็มปอด ได้เจอผู้คนบ้าง แล้วก็นึกขึ้นมาได้ที่หนึ่งที่เคยไปมา เลยอยากจะเอามาแนะนำเพื่อนๆ นั่นคือ 2 จังหวัดแดนเหนือ แพร่-น่าน นั่นเอง!
ที่เราอยากแนะนำ แพร่-น่าน นั้นเเป็นเพราะว่า มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายที่ได้ทั้งเรื่องของธรรมชาติ และ เรื่องของผู้คน ชุมชนที่มีความน่ารักเป็นเอกลักษณ์แบบชาวเหนือ เมืองเล็กในหุบเขาที่สร้างสรรค์สกุลช่างของตัวเองขึ้นอย่างงดงาม เดินชมวัด-เวียง-วิถีในเมืองเก่าที่สะอาดที่สุดของเมืองไทย ด้วยวิธีแยกขยะสมบูรณ์แบบ 🙂
บ่อสวก แหล่งเตาโบราณในหุบเขา
ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยชุมชนบ้านบ่อสวก ตำบลสวก อำเภอเมือง จังหวัดน่าน

เมืองน่านเป็นเมืองเก่าในแอ่งที่ราบทางตะวันออกสุดของล้านนา แม้อยู่ในวงล้อมของทิวเขาหลวงพระบาง แต่กลับมีอุตสาหกรรมยุคโบราณ นั่นคือแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่รุ่งเรืองตั้งแต่กว่า 700 ปีมาแล้ว คือแหล่ง
เตาโบราณบ้านบ่อสวก
บ้านบ่อสวกห่างจากตัวเมืองน่านเพียง 10 กิโลเมตร เป็นชุมชนสงบริมท้องทุ่งที่มีการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ผสมผสานชีวิตความเป็นอยู่ปัจจุบันกับความเป็นมาอันยาวนาน เตาโบราณบ้านจ่ามนัส เป็นแหล่งเตาเครื่องปั้นดินเผาที่พบในที่ดินของเอกชนผ่านการขุดค้น และ ดูแลรักษาเป็นอย่างดี ช่วยสร้างความเข้าใจถึงความเป็นมาอันยิ่งใหญ่ของแหล่งเตา ที่นี่เราสามารถเรียนรู้การปั้นหม้อดินบ่อสวกแบบโบราณได้ด้วย 🙂

วิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านซาวหลวง เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่มีกิจกรรมหลากหลายให้เราทำ เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้การทอผ้า หีบฝ้ายปั่นเป็นเส้นด้าย ย้อมสีธรรมชาติ ไปจนถึงทอด้วยกี่พื้นบ้าน เราสามารถใช้เวลาอยู่ได้ทั้งวันก่อนจะเดินทางต่อไปยังชุมชนในเวียง
เวียงน่าน ในแดดบ่าย
ช่วงเวลาดีที่สุดในการเดินทอดน่องชมเมืองน่าน ต้องรอให้แดดอ่อน ทอดเงาเฉียงลงบนผนังปูนขาวโบราณ เริ่มต้นจากวิหารจตุรมุขวัดภูมินทร์ เป็นพระวิหารสี่ทิศที่เทินอยู่บนหลังพญานาค ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย 4 องค์หันพระพักตร์ไปยังทิศทั้งสี่ และ จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องราวชาดก

หัวมุมสี่แยกถนนสุริยพงษ์เยื้องวัดภูมินทร์ คือวัดช้างคํ้า องค์พระธาตุที่มีช้างล้อมรอบอันเป็นขนบนิยมการสร้างพระธาตุที่แสดงถึงความสัมพันธ์กับสุโขทัย

ซุ้มลั่นทมที่ผลิดอกขาวด้านหน้าหอคำ ตรงข้ามวัดช้างล้อมเป็นอีกจุดเช็กอิน ก่อนจะกราบสักการะพระรูปของเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่านผู้สร้างหอคำหลังนี้ ต่อมาได้มอบให้กับรัฐบาลใช้เป็นศาลากลาง และเปิดเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน
ช่อแฮ แพรเมืองแพร่
วัดพระธาตุช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่
เดินทางข้ามสันดอยมายังอีกเมืองสงบกลางวงล้อมของเทือกเขาผีปันนํ้า แพร่เป็นเมืองโบราณ เชื่อว่ามีมาตั้งแต่ยุคหริภุญชัย หรือเมื่อเกือบพันปีก่อน กำแพงเมืองรูปหอยสังข์ที่หลงเหลืออยู่เป็นหลักฐานเชื่อมโยงไปถึง และ เป็นกำแพงเมืองที่สมบูรณ์ที่สุดของล้านนา
ระยะทาง 110 กิโลเมตรจากน่านใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง ผ่านเวียงสาเข้าสู่ร้องกวาง หยุดพักที่บ้านแม่หล่ายครั้งหนึ่ง แวะกินขนมครกของหมู่บ้านเล็กๆ ริมทาง ซึ่งกลายเป็นของกินชื่อดังประจำท้องถิ่น

พระธาตุช่อแฮเป็นพระธาตุคู่เมืองแพร่ ตั้งอยู่บนดอยทางทิศตะวันตก ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ช่อแฮมีความหมายว่า “ผ้าแพร” เป็นแพรชั้นดี
ทุ่งโฮ้ง และแพะเมืองผี
วนอุทยานแพะเมืองผี ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่

บ้านทุ่งโฮ้งเป็นชุมชนตัดเย็บเสื้อม่อฮ่อมเก่าแก่ ใกล้กับวัดพระธาตุช่อแฮ ในหุบเมืองแพร่มีต้นฮ่อมซึ่งมีคุณสมบัติให้สีคราม นิยมนำมาหมักย้อมผ้าฝ้าย และตัดเย็บเป็นเสื้อใส่ทำงานกลางแดดจนได้รับความนิยม เกิดเป็นเสื้อม่อฮ่อม ซึ่งการตัดเย็บผ้า และ ย้อมผ้าได้พัฒนารูปแบบให้ร่วมสมัย จนทำให้บ้านทุ่งโฮ้งกลายเป็นเป็นที่รู้จัก

จากบ้านทุ่งโฮ้ง ใช้เวลาเพียง 10 นาทีก็มาถึง “แพะเมืองผี” แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ร้อนที่สุด แต่ก็มีจุดเด่นและมีผู้มาเยือนมากที่สุดเมื่อมาถึงเมืองแพร่ ซึ่งมีลักษณะทางธรณีวิทยาของดินลูกรังสีส้มแดงที่ถูกนํ้ากัดเซาะ เกิดเป็นภูมิประเทศแปลกตา เป็นบริเวณที่แทบไม่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นเลย เพราะเกิดในป่าผลัดใบแห้งแล้งที่ชาวบ้านเรียกว่าป่าแพะ
แอ่งผู้คน กลางเวียงไม้สัก
เมืองเล็กที่เป็นเพียงทางผ่าน และ ความเงียบสงบทำให้เมืองแพร่ไม่เหมือนเมืองใดในล้านนาในอดีตนั้น ที่นี่เป็นเมืองแห่งสีสัน ผสมผสานระหว่างผู้คนหลากเชื้อชาติ ทั้งคนเมือง ฝรั่ง, พม่า, เงี้ยว, ช่างชาวจีน รวมถึงคนไทยใต้ที่เป็นตัวแทนรัฐบาลจากส่วนกลาง จึงทำให้เราพบเห็นเรือนไม้สักขนาดใหญ่หลากหลายสกุลช่างรวมอยู่ในเขตเมืองเล็กๆ นี้

เรือนไม้สักสีชมพู ประดับชายฉลุฝีมือช่างจีนกวางตุ้งของบ้านวงศ์บุรี หรือ คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ ตึกแบบฝรั่งผสมไทยที่เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

บ้านหลวงศรีนครานุกูล เป็นเรือนปั้นหยาไม้สักของคหบดีชาวจีนบนถนนเจริญเมือง รวมไปถึงวัดจอมสวรรค์ที่มีสถาปัตยกรรมแบบพุกามอันวิจิตรบรรจง
วันเสาร์จะมีถนนคนเดินกาดกองเก่า เปิดตั้งแต่บ่ายสามไปจนถึงคํ่า มีของกินนานาชนิด รวมไปถึงงานหัตถกรรม ผ้าฝ้ายทอย้อมฮ่อม ให้บรรยากาศกิจกรรมพบปะกันเองของผู้คนในเมืองเล็กๆ มีความเรียบง่าย อบอุ่น เป็นกันเอง