Destinations กรกฎาคม 13, 2020
ชวนเที่ยวสองจังหวัดปลายแดนอันดามัน บนเส้นทางท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงธรรมชาติยุคก่อน เล่าเรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้บนเทือกเขาหินปูน เกาะแก่ง ลากูน ผ่านชุมชนประมงพื้นบ้าน แล้วเดินทางทวนประวัติศาสตร์สู่เมืองเล็กชายฝั่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับงานสร้างสรรค์
ถ้ำเล สเตโกดอน
ตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล
เริ่มต้นกันที่ ทุ่งหว้า ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดของสตูล ซึ่งมีภูมิประเทศที่พิเศษมาก เป็นเวิ้งอ่าวปากคลอง และ ที่ราบลุ่มชายฝั่งต่อเนื่อง 2 จังหวัด คือ ตรัง และ สตูล อยู่ทางใต้ ถัดจากแนวป่าชายเลนสมบูรณ์ ซึ่งมองดูแล้วเหมือนเป็นหมู่เขาหินปูนที่ดูเหมือนโอบล้อมอำเภอเล็กๆ แห่งนี้ไว้
บริเวณนี้มีถํ้าต่างๆ มากมาย แต่ถํ้าที่ชาวทุ่งหว้าดูจะคุ้นเคยดีที่สุด คือ ถํ้าวังกล้วย ลักษณะเป็นอุโมงค์ยาวกว่า 4 กิโลเมตร มีคลองลอดทะลุไปออกทะเลที่บ้านท่าอ้อย มีการสำรวจจนได้พบฟอสซิลขากรรไกร และ ฟันล่างของช้างโบราณยุคนํ้าแข็ง คือ ช้างสเตโกดอน อันเป็นที่มาของชื่อ รวมถึงแรด และ เขากวางด้วย
เวลาเข้าชมถํ้า ค่อนข้างมีกฎระเบียบเคร่งครัด โดยใช้เรือคายัคที่เบา และ เงียบ ระดับนํ้าในถํ้ามีการแปรเปลี่ยนด้วยอิทธิพลจากนํ้าขึ้นนํ้าลง ทำให้เวลาที่จะเข้าชมอาจจะต้องเลือกช่วงเวลาให้เหมาะสม แต่ถ้าได้เขาชมแล้ว รับรองว่าตลอดความยาวของโถงถํ้า จะพาเราเข้าสู่อีกโลกหนึ่ง เหมือนย้อนเวลากลับไปในยุคโบราณ ตกอยู่ในยุคนํ้าแข็ง ด้วยความมหัศจรรย์ของหินงอกหินย้อย ม่านหิน และหลอดหินย้อยที่แสนเปราะ และ บางมาก ดูระยิบระยับยามต้องแสงไฟ และ เมื่อพ้นจากแนวถํ้า เรือคายัคจะพายช้าๆ ผ่านป่าชายเลนที่ร่มครึ้ม เงียบสงัด เปิดโอกาสให้ชมธรรมชาติสองฟากฝั่งจนถึงปากอ่าวบริเวณจุดชมวิวบ้านท่าอ้อยที่ภูมิทัศน์เปิดโล่งมองเห็นทะเลอันดามัน
Geopark และ Eco Tourism
สำหรับใครที่ยังอินกับถ้ำเลสเตโกดอน ขอให้ตามมาต่อกันที่ อุทยานธรณีสตูล – พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ ซึ่งนำฟอสซิลกรามช้างสเตโกดอน รวมทั้งฟอสซิลสิ่งมีชีวิตยุคโบราณอื่นๆ ที่พบมาจัดแสดง นอกจากนี้ยังจัดแสดงเรื่องราวของยุคทางธรณีกาลที่ซ้อนทับอยู่ใต้ท้องทะเล
อุทยานธรณีสตูล ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ จากทุ่งหว้า มะนัง ละงู จรดอำเภอเมืองสตูล ซึ่งเป็นแนวเทือกเขาหินปูนต่อเนื่องยาวร่วมร้อยกิโลเมตร บันทึกช่วงเวลาทางธรณีกาลเมื่อ 500 ล้านปีก่อนเอาไว้ท้าทายให้ค้นหาทิวทัศน์อันงดงามของหาดทราย เกาะแก่ง เทือกเขาหินปูนจากชายฝั่งจรดผืนทะเลเชื่อมโยงไปถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
ที่สำคัญการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน จะจัดในรูปแบบ Eco Tourism เท่านั้น
ปราสาทหินเขาพันยอด
ปราสาทหินเขาพันยอด การท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านบ่อเจ็ดลูก ปากนํ้าละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล
นํ้าใสสีเขียว นิ่งสงัดของทะเลในหรือลากูน ซ่อนตัวอยู่ในวงล้อมของเขาหินปูน ปลายเกาะเขาใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา บริเวณนี้ยังเป็นจุดหลบลมของชาวประมงชายฝั่งมาก่อนจนไปพบมีช่องทางเล็กๆ พอให้เรือลำเล็กๆ ลอดได้ เชื่อมทะเลเปิดกับทะเลใน
เมื่อพายลอดผ่านเข้าไปจะถูกโอบล้อมด้วยเขาหินปูนกลางทะเล ยอดแหลมจากการกัดเซาะของมรสุมนับพันๆ ยอด มองดูแล้วเห็นเหมือนยอดปราสาทหินที่ผ่านการสลักโดยช่างฝีมือ เป็นที่มาของปราสาทหินพันยอด หากแต่เป็นปราสาทหินธรรมชาติที่รังสรรค์ขึ้นโดยลม ฝน สายนํ้า
เราใช้เรือซีคายัคทั้งสิ้น 5 ลำ ลากด้วยเรือประมงเครื่องท้าย ออกจากท่าเรือปากนํ้าบ้านบ่อเจ็ดลูก มุ่งไปยังหาดสันหลังมังกร ซึ่งเป็นแนวสันทรายกลางทะเลเชื่อมเกาะ จากนั้นไปชมร่องรอยสิ่งมีชีวิตยุคแคมเบี้ย เลยต่อไปยังอ่าวหินงาม ก่อนจบโปรแกรมในช่วงบ่ายอย่างอิ่มเอม และ อิ่มหนำด้วยอาหารทะเลสดสารพัด โดยเฉพาะกุ้งทะเลสดที่หาได้จากลอบกุ้ง และ อาหารพื้นบ้าน
ทับเที่ยง สตรีทอาร์ต
ถนนสายสตรีทอาร์ต อำเภอเมือง จังหวัดตรัง
จากอำเภอละงู จังหวัดสตูล เราเดินทางย้อนกลับไปจังหวัดตรังในช่วงบ่าย ใช้เส้นทางละงู ทุ่งหว้า ปะเหลียน ย่านตาขาว ผ่านสวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย และเข้าสู่ตัวเมืองตรัง เพื่อเดินชมย่านเก่าเมืองตรังในแสงบ่าย ก่อนคํ่า เลือกจองที่พักเป็นโรงแรมขนาดเล็กในเขตตัวเมือง เน้นที่ความสะอาด และ อยู่สบาย
เมืองตรังเป็นเมืองเกิดใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยโยกย้ายมาจากเมืองกันตังซึ่งเป็นเมืองท่าชายฝั่งซึ่งมีผู้คนหนาแน่น ย้ายมาสร้างเมืองใหม่ที่บ้านทับเที่ยง ฉะนั้นอาคารบ้านเรือนและผังเมืองจึงเป็นแบบยุครัชกาลที่ 6 โดยเฉพาะในย่านใจกลางเมือง บนถนนราชดำเนิน มีตึกแถวเก่าที่ตกแต่งด้านหน้าอย่างวิจิตร เช่น อาคารห้างสิริบรรณ ร้านหนังสือเก่าแก่เมืองตรังก่อตั้งมากว่า 70 ปี และยังเป็นบ้านเกิดของจิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรท์ หรือตึกแถวแบบเก่าพร้อมอาเขตหรือโค้งหลังคาด้านหน้าอาคารสไตล์ปีนังซึ่งหลงเหลืออยู่ที่ถนนกันตัง รวมไปถึงวงเวียนนํ้าพุแบบวิกตอเรียที่งามวิจิตร
ต้นศรีตรังผลิดอกสีม่วงพราวบนผนังอาคาร ใกล้ถนนราชดำเนินซอย 1 เยื้องกับห้างสิริบรรณ เป็นภาพสตรีทอาร์ตที่ดึงดูดให้ผู้มาเยือนมาถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ถํ้ามรกตที่เกาะมุก บนผนัง หรือ ดงยางพาราของเมืองอันเป็นต้นกำเนิดยางพาราในภูมิภาค เส้นทางเดินเท้าชมตึกเก่ามีสตรีทอาร์ตแทรกให้ชมเพลินๆ เป็นรูทวงรอบจากถนนกันตัง ตัดเข้าถนนราชดำเนินยาวต่อเนื่องไปจนถึงสี่แยกโกกุน เลี้ยวขวามายังสี่แยกหอนาฬิกา โดยเฉพาะบนถนนราชดำเนิน มีร้านอาหารเก่าแก่ตำรับฮกเกี้ยนและอาหารพื้นบ้านเมืองตรังอยู่หลายร้าน หากเดินจนเมื่อยลองใช้บริการรถตุ๊กตุ๊กหัวกบ รถรับจ้างขนาดเล็ก แต่ละคันอายุไม่น้อยกว่า 40 ปี
ตรังถึงกันตัง
พิพิธภัณฑ์ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ตำบลกันตัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง
มื้อเช้าเมืองตรัง เป็นสิ่งที่ห้ามพลาด ความหลากหลายบนโต๊ะสะท้อนบุคลิกคนเมืองนี้อย่างชัดเจน คนตรังนิยมกินมื้อเช้านอกบ้าน และถือโอกาสมาพบปะพูดคุย แจ้งข่าวสารกันที่ร้านโกปี๊ซึ่งเป็นร้านอาหารเช้า เราจะพบใบปิดแจ้งข่าวงานบุญ งานบวช ไปจนถึงงานแต่ง ติดบอกไว้โดยไม่ต้องออกการ์ดเชิญ
นอกจากโกปี๊แล้ว “ติ่มซำ” ก็เป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ หมูย่างตำรับเมืองตรัง อิ่วจาโก้ยหรือปาท่องโก๋ เนื้อแป้งกรอบน้อยๆ ที่ด้านนอก ในนุ่มจิ้มสังขยาถ้วยเล็กๆ อร่อยไม่เหมือนที่อื่น ถ้าให้ได้บรรยากาศเลือกมาลองร้านเก่าๆ ละแวกสถานีรถไฟ
เราเปลี่ยนบรรยากาศขึ้นรถไฟเพื่อเดินทางต่อไปยังกันตัง เมืองเก่าใกล้ปากแม่นํ้าตรัง ใช้เวลาเดินทางเพียง 45 นาที สถานีรถไฟกันตังสร้างสมัยรัชกาลที่ 6 เพื่อรองรับการขนส่งทางเรือจากสิงคโปร์ ปีนัง ไปจนถึงอินโดนีเซีย ตัวสถานีเป็นอาคารปั้นหยา ทาสีเหลืองมัสตาร์ด ประดับลายที่คงเอกลักษณ์สมัยรัชกาลที่ 6 ใกล้กันเป็นตึกแถวแบบปีนังที่หลงเหลืออยู่
กันตังเป็นหัวใจของตรัง เป็นศูนย์กลางความเจริญ กันตังยังมีต้นยางพาราต้นแรก สวนสาธารณะควนตำหนักจันทร์ และจุดชมทิวทัศน์แม่นํ้าตรังที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนจากควนถึงเล